ประเด็นร้อน
4 โครงการ EEC 6.5 แสนล้านบาท เข้าครม.ปลายพ.ค. ยันไม่ซ้ำรอยโฮปเวลล์
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 24,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ - -
อีอีซียัน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การเจรจากับกลุ่มซีพีบรรลุข้อตกลง 26 เม.ย.นี้ พร้อมนำเสนอครม.ไฟเขียวและรฟท.ลงนามในสัญญาได้ภายในพ.ค.62 ขณะที่โครงการท่าเรือมาบตาพุด เจาจากับกลุ่มกัลฟ์และปตท.ได้ข้อยุติในเม.ย.นี้ ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก แล้วเสร็จพ.ค.62
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่าการ การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2562 วันอังคารที่ 23 เมษายน 2562 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับ ทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดําเนินงาน โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ใน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F โดยทั้ง 4 โครงการจะเข้าพิจารณาในปลายเดือนหน้าทั้งหมด เพื่อเริ่มเตรียมพื้นที่ก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง
นายคณิศ แสงสุพรรณ
“เป็นการยืนยันว่าจะเดินหน้าทุกโครงการซึ่งจะทำให้เสร็จทุกโครงการภายในเดือนพ.ค. การลงทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนที่ใช้กระบวนการลงทุนแบบ PPP เงินทั้งหมดประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะสร้างเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 0.8 – 1% รัฐบาลลงเงินจริง 2 แสนล้าน หรือ 30% ซึ่งจะได้เป็นผลตอบแทนกลับมารวม 4 แสนล้านบาท ดังนั้นโครงการทั้งหมดไม่ได้เป็นการใช้งบประมาณรัฐทั้งหมด แต่จะสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล”นายคณิศ กล่าว
จากนั้นเป็นการรายงานความคืบหน้าของแต่ละโครงการ เริ่มจากโครงการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้ประกาศเชิญชวนการ ลงทุนร่วม ระหว่างเดือน มี.ค. – เม.ย. 2561 โดยเบื้องต้นมีเอกชนซื้อเอกสารประมูลจํานวน 31 ราย ต่อมามีเอกชนยื่น ข้อเสนอโครงการฯ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (กลุ่ม BSR) และ (2) กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) การประเมินข้อเสนอแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2562 กลุ่ม CPH เป็น “ผู้ยื่นข้อเสนอด้านการลงทุนและ ผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา” และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจากับกลุ่ม CPH โดยประชุมเจรจา ร่างสัญญาร่วมลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง และประชุมคณะทํางานย่อยเพื่อเจรจาสัญญาไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง ซึ่งจะบรรลุ ข้อตกลงในการเจรจาภายใน 26 เมษายน 2562 นี้
ทั้งนี้ ขั้นตอนการดําเนินการต่อไป
1.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะจัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนที่เจรจากับผู้ผ่านการประเมินให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยสํานักงานอัยการสูงสุดจะแจ้งผลการตรวจพิจารณาโดยเร็วต่อ รฟท.
2. สํานักงานกพอ. จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชนผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน ให้ กพอ. พิจารณา
3.เสนอให้ ครม.
4.รฟท.ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมด จะแล้วเสร็จภายใน เดือนพฤษภาคม 2562 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้เปิดรับให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอ 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture)
2 กลุ่ม Grand Consortium
3.กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จากัด และพันธมิตร โดยขณะนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ อยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอ และคาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จ และประกาศผลผู้ผ่านการประเมินที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดได้ภายในพฤษภาคม 2562
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่3 คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้เปิดให้ เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ และมีผู้ซื้อเอกสารจํานวน 18 ราย ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ จํานวน 1 กลุ่มคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า ได้แก่ กัลฟ์และพีทีทีแทงค์ โดยขณะนี้ คณะกรรมการคัดเลือกอยู่ระหว่างการเจรจา ประเมินข้อเสนอ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเจรจากับภาคเอกชนได้ภายในเดือนเมษายน 2562 และจะเสนอเข้า กพอ.ในการประชุมครั้งหน้า
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ได้เปิดรับให้ เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ ซึ่งมีเอกชนซื้อเอกสาร 35 ราย วันที่ 29 มี.ค.62 ต่อมามีภาคเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี (กลุ่ม GPC) 2 กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี (กลุ่ม NCP) ทั้งนี้คณะกรรมการคัดเลือกอยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอ ให้ทั้ง 2 กลุ่มส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมในข้อที่กรรมการสงสัย วันนี้มีการพิจารณาจัดสินและผ่านการพิจารณากลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ส่วนกลุ่มเอ็นซีพียื่นเอกสารไม่ถูกต้อง จากนั้นจะเปิดซองที่ 3-5 ตามลำดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2562
นายคณิศ ยืนยันว่า โครงการทั้งหมดแตกต่างจากโครงการโฮปเวลล์แน่นอน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินของรฟท. เป็นโครงการที่เขียนโครงการอย่างรัดกุม ให้เอกชนสร้างไปก่อน 5 ปี จากนั้นรัฐไปตรวจว่าใช้ได้หรือไม่จึงจะเริ่มจ่ายเงิน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโฮปเวลล์ไม่ใช่ทำไปจ่ายไป แต่ทั้งนี้การดำเนินโครงการแบบนี้ก็ยากเช่นกัน เพราะเอกชนต้องกู้เงินไปสร้างไป ต้นทุนการเงินเขาแพง
“โครงการเหล่านี้ฝ่ายกฎหมายโดยท่านอัยการสูงสุดท่านเน้นย้ำว่าที่ต้องทำแบบนี้เพราะไม่อยากให้เหมือนโฮปเวลล์ แต่อย่างที่เรียนว่าต้นทุนของเอกชนก็จะแพง”นายคณิศ กล่าว
นายวรวุฒิ มาลา
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะสามารถส่งส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจได้ประมาณวันที่ 10 พ.ค. ส่งเข้า กพอ.วันที่ 15 พ.ค. และเสนอเข้าครม.วันอังคารที่ 28 พ.ค. อาจจะเลยกำหนดนิดหน่อยจากที่เคยบอกว่าภายในเดือนพ.ค. ส่วนที่มีความกังวลว่าจะซ้ำรอยโฮปเวลล์นั้นยืนยันว่าการทำสัญญาเป็นไปอย่างรัดกุม แน่หนามาก และพื้นฐานของโครงการก็แตกต่างกัน
“โฮปเวลล์ขึ้นมาเมื่อ 30 ปีที่แล้วผมก็อยู่ แต่ตอนนั้นยังเป็นเด็กไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย แต่โฮปเวลล์มีสัญญาไม่กี่หน้าครับ มันต่างกันกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน”
(4 โครงการ EEC 6.5 แสนล้านบาท เข้าครม.ปลายพ.ค. ยันไม่ซ้ำรอยโฮปเวลล์ : จาก ฐานเศรษฐกิจ)
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน